หลายๆท่าน มีความสงสัยเกี่ยวกับชื่อของเจ้าน้ำตาลอย่างนี้แน่นอน น้ำตาลสามอย่างนี้นิยมใช้ในการทำอาหาร ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาหารไทยขนมไทย แกงไทย แล้วส่วนใหญ่จะเรียกเหมารวมว่า “ น้ำตาลปี๊บ ” แน่นอนหลายคนรู้จักน้ำตาลปี๊บ น้ำตาลปึก แต่รู้จักแบบเข้าใจหรือเปล่า นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แล้ว น้ำตาลมะพร้าว ล่ะ?
น้ำตาลปึก และ น้ำตาลปี๊บ คือการเรียกน้ำตาลตามการขึ้นรูปหรือการบรรจุ
น้ำตาลปึก คือการนำน้ำตาลที่เคี่ยวแล้วใส่ลงพิมพ์ ถ้วยตะไล หรือขึ้นรูปเป็นลักษณะขด จะได้น้ำตาลที่ออกมาลักษณะเป็นก้อนๆแผ่นๆ
น้ำตาลปี๊บ คือการนำน้ำตาลที่เคี่ยวแล้วบรรจุลงปี๊บโลหะเพื่อจะได้ปริมาณที่มาก น้ำตาล 1 ปี๊บได้เนื้อน้ำตาลหนัก 30 กิโลกรัม หรือใกล้เคียง
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการนำไปใช้ ถ้าใช้ในครัวเรือนการเลือกซื้อน้ำตาลปึกอาจจะเหมาะสมและพอดีกับปริมาณและความสะดวกในการใช้มากกว่าน้ำตาลบรรจุลงปี๊บโลหะ ถ้านำไปผลิตอาหารที่ต้องการปริมาณที่มาก หรือนำไปบรรจุลงในถุงเล็กเพื่อขายต่อการเลือกน้ำตาลบรรจุลงปี๊บอาจจะตอบโจทย์ได้มากกว่า และในปัจจุบันตัวน้ำตาลถูกบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายแตกต่างกันออกไปเพื่อเป็นตัวเลือกและเพื่อความสะดวกต่อผู้บริโภคที่มากขึ้นด้วย
น้ำตาลมะพร้าว คือการเรียกน้ำตาลตามวัตถุดิบที่ใช้ผลิต แน่นอนว่าน้ำตาลมะพร้าวต้องได้มากจากการใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต แต่บางคนสงสัยว่าส่วนไหนที่ถูกนำมาใช้ทำน้ำตาล ใช่น้ำและเนื้อจากลูกมะพร้าวที่เราคุ้นเคยกันหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ครับ น้ำตาลมะพร้าวได้มาจากน้ำหวานจากช่อดอกมะพร้าว หรืออาจถูกเรียกว่า งวง หรือ จั่นมะพร้าว ผ่านกรรมวิธีต่างๆมากมายจนเคี่ยวออกมาเป็นเนื้อน้ำตาล ซึ่งอาจถูกขึ้นรูปเป็น “น้ำตาลปึก” หรือบรรจุลงปี๊บโลหะเป็น “น้ำตาลปี๊บ” ได้ทั้งหมด
น้ำตาลมะพร้าว ได้จากจั่นมะพร้าวหรือช่อดอกของต้นที่ให้น้ำตาลสดนำมาทำน้ำตาลมะพร้าวอีกที เพื่อนำมาเคี่ยวกรองเศษไม้ และสิ่งสกปรกออก ผ่านกระบวนการเคี่ยวจนกลายเป็นน้ำตาลมะพร้าวสีขาวเหลือง เมื่อนำมาเทใส่ปี๊บ เรียกว่า น้ำตาลปี๊บ ถ้าเทใส่ถ้วยตะไลหรือพิมพ์กลมเล็ก ๆ เรียก น้ำตาลปึก มีรสหวานมันหอมแบบมะพร้าว แต่เกิดความชื้นได้ง่าย เมื่ออยู่ในอุณหภูมิห้องจึงมีโอกาสละลายได้ง่าย
เมนูที่มักจะใช้ น้ำตาลมะพร้าว ได้แก่ เมนูอาหารไทย ทั้งของคาว และของหวาน